โรงละครแห่งชาติไถจง พื้นที่ศิลปะในไต้หวัน ออกแบบด้วยรูปทรงอาคารสุดล้ำ

โรงละครแห่งชาติไถจง (National Taichung Theater) ตั้งอยู่ในเขตซีถุน เมืองไถจง ถือเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะขนาดใหญ่ ถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อดัง โทโย อิโตะ (Ito Toyo) เจ้าของรางวัล Pritzker (รางวัลอันดับหนึ่งของวงการสถาปัตยกรรมโลก)  

ภายในอาคารประกอบด้วยโรงละคร 3 แห่ง รวมถึงพื้นที่อเนกประสงค์ “Corner Salon” และสวนลอยฟ้า (Rooftop Sky Garden)  จึงทำให้โรงละครแห่งชาติไถจงสวยงาม มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักโรงละครแห่งชาติไถจง เราจะพาทุกคนมาชื่นชมความงาม และรู้จักแลนด์มาร์กของเมืองไถจงกันมากขึ้น

แนวคิดการในการออกแบบอาคาร

แรงบันดาลใจในการออกแบบโรงละครแห่งชาติไถจง ได้รับแนวคิดมาจาก “ถ้ำเสียง” (Sound Cave) ทำให้มีการออกแบบผนังโค้ง รู และท่อที่เป็นเอกลักษณ์ ก่อสร้างให้อาคารทั้งหลังไม่มีคานและเสารองรับ รวมถึงไม่มีจุดใดของกำแพงที่ทำมุมฉาก 90 องศา จึงทำให้ดีไซน์ของโรงละครแห่งนี้แตกต่างจากอาคารทั่วไป 

ภายหลังจากที่มีการก่อสร้างนานหลายปี ก็ถึงเวลาที่ทุกคนจะได้รับความสวยงามของโรงละครแห่งชาติไถจง ตื่นตาตื่นใจกับพื้นที่ศิลปะอันสวยงาม ตั้งแต่ด้านหน้าของโรงละครที่มี “Bottle the Art” รูปร่างคล้ายไหเหล้าทรงโค้ง แสงไฟยามค่ำคืนสาดส่องเผยความสง่างามและความอบอุ่น รวมถึงการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจ ถือได้ว่าโรงละครแห่งชาติไถจง เป็นพื้นที่ศิลปะที่เปิดโอกาสได้ผู้คนได้รับแรงบันดาลใจ และพักผ่อนในครั้งเดียวกัน ช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมภาคกลางของไต้หวัน ให้กลับมาเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจอีกครั้ง

จุดเริ่มต้นของโรงละครแห่งชาติไถจง

สำหรับจุดกำเนิดของโรงละครแห่งชาติไถจง (National Taichung Theater) เกิดขึ้นในปี 1992 มาจากการที่กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน วางแผนก่อสร้าง “ศูนย์ดนตรีและศิลปะแห่งชาติไถจง” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น  “หอดนตรีแห่งชาติ” โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างศูนย์ศิลปะการแสดงระดับนานาชาติในไต้หวัน จากนั้นในปี 2005 คณะกรรมการพัฒนาวัฒนธรรมของรัฐบาลไต้หวัน (ปัจจุบันคือกระทรวงวัฒนธรรม) ได้อนุมัติโครงการก่อสร้าง “โรงละครแห่งชาติไถจง” อย่างเป็นทางการ

เพื่อให้ได้รูปแบบอาคารที่เหมาะสำหรับการเป็น พื้นที่จัดงานศิลปะระดับนานาชาติในเมืองไถจง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจัดการแข่งขัน “ประกวดการออกแบบอาคารระดับนานาชาติ” โดยได้มีการคัดเลือกทีมสถาปัตยกรรมจาก 13 ประเทศ (สถาปนิก 32 คน) เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส 

จากผลงานในการออกแบบอาคารทั้งหมด ปรากฏว่า ผลงานของสถาปนิกชาวญี่ปุ่น โทโย อิโตะ (Ito Toyo) มีความโดดเด่นกว่าใคร เนื่องจากรูปแบบอาคารมีโครงร่างที่ชัดเจน รวมถึงมีการกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างที่เหมาะสม ทางหน่วยงานของไต้หวันจึงได้เลือกรูปแบบอาคารของโทโย อิโตะ เป็นดีไซน์หลัก สำหรับการก่อสร้างพื้นที่จัดงานศิลปะระดับนานาชาติของไต้หวัน

กว่าจะเป็นโรงละครแห่งชาติไถจงทุกวันนี้

Photo Credit : Instagram @taichungtravels

ตั้งแต่กระบวนการออกแบบอาคาร จนถึงเสร็จสิ้นการก่อสร้างอาคาร กลายเป็นโรงละครแห่งชาติของไต้หวันในทุกวันนี้ เรียกได้ว่าโรงละครไถจงได้ผ่านการคัดเลือกและขัดเกลารูปแบบมาอย่างเข้มงวด  โดยระหว่างการประกวดงานออกแบบ โทโย อิโตะได้ใช้แนวคิดการออกแบบที่ล้ำสมัยและท้าทายรูปแบบแนวคิดที่มีอยู่เดิม ผ่านการคิดโครงร่างของอาคารไว้ล่วงหน้า จากนั้นมีการจัดวางเวทีในผนังโค้งตามลักษณะพิเศษของการแสดง เมื่อวางแผนรูปแบบอาคารเสร็จแล้ว จึงมีการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานของสถานที่ รวมถึงกำหนดจุดเชื่อมต่อห้องโถงของโรงละครหลัก (Grand Theatre) โรงละครเล็ก (Play House) เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการใช้งานมากที่สุด

Photo Credit : Instagram @taichungtravels

เมื่อมีการปรับโครงสร้างอาคารให้มีความสมบูรณ์ และสอดคล้องกับแนวคิด “ถ้ำเสียง” (Sound Cave) ที่ต้องการสื่อถึงเสียงหัวเราะ ความโศกเศร้า และซาบซึ้งกับงานศิลปะอันล้ำค่า นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบโรงละครไถจง ให้มีกำแพงโค้งทั้งหมด 58 กำแพง แต่ละกำแพงโค้งมีส่วนประกอบแยก 1372 ชิ้น โดยจะต้องมีการออกแบบชิ้นส่วนเป็นพิเศษ เพื่อให้อาคารมีความสวยงามและสมบูรณ์มากที่สุด สมกับเป็นพื้นที่จัดงานศิลปะและโรงละครที่ใหญ่ที่สุดในไถจง

Photo Credit : Instagram @taichungtravels

เมื่ออ่านถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการออกแบบและการก่อสร้างของโรงละครแห่งชาติไถจง นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่แปลกใจเลยหากโรงละครแห่งนี้ จะได้รับการขนานนามจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไต้หวัน ว่าเป็น “อาคารที่สร้างยากที่สุดในโลก” อีกทั้งวิธีการก่อสร้าง “กำแพงโค้ง” ยังได้รับการรับรองสิทธิบัตรวิธีการก่อสร้างทั่วโลกอีกด้วย เป็นการตอกย้ำอย่างดีถึงความพิเศษของโรงละครแห่งนี้

พื้นที่ภายในอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับพื้นที่ภายในของโรงละครแห่งชาติไถจง ประกอบด้วย โรงละครขนาดใหญ่ (2007 ที่นั่ง) โรงละครขนาดกลาง (794 ที่นั่ง) และโรงละครขนาดเล็ก (200 ที่นั่ง) รวมถึงที่จอดรถใต้ดินและพื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมโรงละครแห่งนี้ได้รับประสบการณ์ที่เหนือระดับ และสามารถมองเห็นการแสดงบนเวทีได้อย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมมากขึ้น

จากการออกแบบโรงละครแห่งชาติไถจง (National Taichung Theater) จะเห็นได้ว่า “ความยิ่งใหญ่ของอาคาร“ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือม่านกระจกที่ใช้ในการสร้างโครงร่างขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่การออกแบบอาคารให้กลมกลืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าโรงละครแห่งชาติไถจงมีจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ และทรงคุณค่าไม่แพ้โรงละครที่อื่นเลยทีเดียว

นอกจากนี้ โรงละครแห่งชาติไถจงยังมีสวนสาธารณะสีเขียว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมดื่มด่ำกับความสวยงามของศิลปะในคราวเดียวกัน หากใครมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจ และช่วยให้ผ่อนคลาย โรงละครแห่งชาติไถจงยังตอบโจทย์คุณแน่นอน

โทรศัพท์:

+886-4-22511777

วิธีการเดินทาง:

ดูรายละเอียดการเดินทางไปยัง National Taichung Theater ได้ที่เว็บไซต์  https://www.npac-ntt.org/en/visit/transportation

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ